วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาการปวดประจำเดือน

โดยทั่วไปเกิดขึ้นเนื่องจากผนังมดลูกมีการสร้างสารชนิดที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น หรือมีความไวต่อสารตัวนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกและมดลูกหดตัวแรงขึ้น อันเป็นสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดหดตัวในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเดิน ร่วมกับอาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนจะรุนแรงในวันแรกของการมีประจำเดือน แล้วค่อย ๆ ลดลง แต่ก็มีสตรีบางคนอาจจะมีอาการปวดตลอดระยะเวลาของการมีประจำเดือน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยการวางถุงน้ำร้อนบริเวณหน้าท้องหรือพักผ่อน ให้เพียงพอ หากปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุสำคัญของการปวดประจำเดือน ได้แก่ กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ส่วนในตำรับยาแผนโบราณให้รับประทานตังกุย หรือใช้ดอกคำฝอยชงดื่มเป็นยาบำรุง โลหิตประจำเดือนและบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว การนวดท้องเบาๆ การประคบน้ำอุ่น การออกกำลังกาย หรือการยืดเส้นยืดสายก็อาจช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ และสำหรับสตรีบางคน การอดนอน ความเครียด และการดื่มกาแฟอาจทำให้อาการปวดรุนแรง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้

นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวที่กล่าวมาแล้ว ยังควรคำนึงถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นในระหว่างที่มีรอบเดือน นั่นคือ ควรพิถีพิถัน กับการทำความสะอาดร่างกายให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณ "จุดซ่อนเร้น" ขณะเดียวกันก็ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะที่มีประจำเดือน คือ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมหรือคับจนเกินไป เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ งดดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ไม่ปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่าน หรือหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องเลวร้าย รวมไปถึงไม่ควรทุ่มตัวหักโหมกับงานจนเกินไป พยายามทำใจให้สบาย ทำอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา

ควรปรึกษาสูติ-นรีแพทย์เพื่อรับการตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นและรับ การรักษาที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น